หากกระดูกขากรรไกร ไม่พร้อมที่จะทำการ ฝังรากฟันเทียม ควรทำอย่างไร
หากกระดูกขากรรไกร ไม่พร้อมที่จะทำการ ฝังรากฟันเทียม ควรทำอย่างไร
การรักษาด้วยการผ่าตัดฝังรากฟันเทียมนั้น แม้ว่าจะเป็นการรักษาทางทันตกรรมที่ใช้ทดแทนการสูญเสียฟัน แต่ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่หลายข้อที่ทันตแพทย์ผู้ทำการรักษาจะต้องทำการวินิจฉัยอย่างละเอียด และไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถเข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัดฝังรากฟันเทียมได้ เพราะมีหลายปัจจัยที่ต้องพิจารณา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโรคประจำตัว ประวัติการสูบบุหรี่ สุขภาพเหงือกโดยรอบตำแหน่งที่จะทำการฝังรากฟันเทียม และสิ่งที่สำคัญมากที่สุดเลยก็คือ ความพร้อมของกระดูกขากรรไกรที่จะใช้รองรับรากฟันเทียม จะต้องมีความแข็งแรง และเพียงพอต่อการฝังรากฟันเทียม เพราะบางราย อาจจะมีกระดูกขากรรไกรที่ไม่เพียงพอต่อการฝังรากฟันเทียม อาจจะทำให้เกิดการอักเสบหรือภาวะแทรกซ้อนต่างๆได้
หากทันตแพทย์ผู้ทำการรักษา ตรวจสอบกระดูกขากรรไกรของผู้เข้ารับการรักษาแล้ว พบว่า กระดูกขากรรไกรมีความแข็งแรงไม่พอ หรือมีเนื้อกระดูกที่ไม่เพียงพอต่อการรองรับรากฟันเทียม ก็อาจจะต้องเข้ารับการปลูกกระดูก ซึ่งโดยปกติแล้ว รากฟันเทียมจะประกอบด้วยสองส่วน ได้แก่ ส่วนกระบอกโลหะที่ต้องฝังเข้าไปในกระดูกขากรรไกรและทำหน้าที่เสมือนเป็นรากฟัน และส่วนหลักยึดที่ต้องขันเข้ากับส่วนกระบอกโลหะ จากนั้น ทันตแพทย์จะติดตั้งตัวฟันกับหลักยึด เพื่อให้ดูเหมือนฟันจริง ถ้าหากผู้เข้ารับการรักษามีกระดูกที่บางหรือนิ่มเกินไปก็อาจจะไม่สามารถทำการฝังรากฟันเทียมได้ เนื่องจากกระดูกรองรับฟันจะไม่สามารถพยุงรากฟันเทียมไว้ได้ อาจจะทำให้เกิดการล้มเหลวในการรักษา
เพราะฉะนั้นทันตแพทย์จะทำการนำกระดูกส่วนอื่นของร่างกายเข้ามาปลูกถ่ายกระดูกแบบพิเศษ ซึ่งเป็นวิธีที่นิยมใช้กันมาก เมื่อเข้ารับการปลูกกระดูกแล้วก็ต้องใช้เวลาเพื่อให้กระดูกที่ปลูกถ่ายเข้าไปสร้างกระดูกใหม่ที่แข็งแรงกว่าเดิมและสามารถพยุงรากเทียมให้อยู่กับที่ได้ และหากทันตแพทย์ทำการประเมินแล้วว่า ผู้เข้ารับการรักษาสามารถเข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัดฝังรากฟันเทียมได้แล้ว ทันตแพทย์ก็จะทำการฝังรากฟันเทียมให้ โดยเลือกรูปแบบที่เหมาะสมกับสภาพฟันและความพร้อมของกระดูกขากรรไกร เพื่อให้ผลการรักษามีอัตราความสำเร็จมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงทำให้ผู้เข้ารับการรักษาได้ใช้งานรากฟันเทียมได้อย่างมีประสิทธิภาพและเต็มที่มากที่สุด