preloader

Blog

วิธีรับมือกับ “ฟันหัก” ให้ถูกต้อง ?

วิธีรับมือกับ “ฟันหัก” ให้ถูกต้อง ?

ฟันหัก คืออุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับฟันอย่างรุนแรง โดยสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย และทุกครั้งเมื่อประสบอุบัติเหตุฟันหักมักมีอาการตื่นตกใจ จนไม่สามารถตั้งสติได้ว่าควรจะทำอะไรก่อน และอาจจะเป็นเหตุให้การรักษาของทันตแพทย์ยากขึ้นไปอีก จึงจำเป็นอย่างมากที่ท่านผู้อ่านจำเป็นจะต้องเรียนรู้วิธีการแก้ไขเมื่อเกิดฟันหักได้ เพื่อจะได้ไม่ต้องสูญเสียฟันแท้ตามธรรมชาติที่สวยงามไปนั่นเอง

ในวันนี้ทางด้าน Idol Smile Dental Clinic จะขอพาท่านผู้อ่านมาทำความรู้จักกับ วิธีป้องกัน ดูแล และแก้ไข เมื่อเกิดอุบัติเหตุฟันหัก ด้วยขั้นตอนและวิธีที่ถูกต้องดังต่อไปนี้

 

ฟันหักเกิดขึ้นได้อย่างไร ?

ต้องบอกเลยว่าโดยปกติแล้ว เคลือบฟันเป็นส่วนที่มีความแข็งแรงมากๆ ที่คอยปกป้องฟันจากอันตรายต่างๆ ไม่ให้เกิดการหักได้ง่ายๆ โดยมีแร่ธาตุต่างๆ เป็นส่วนผสมในความแข็งแรง แต่ถึงอย่างไรก็ตามความแข็งแรงของเคลือบฟันก็ถือว่ามีขีดจำกัดเช่นกัน หากว่ามีการกระทบกระเทือนกระแทกที่รุนแรงมากๆ เช่น การหกล้มและฟันไปกระแทกพื้นรุนแรง หรือถูกกระแทกอย่างรุนแรงด้วยของแข็งที่ฟัน หรือการกัดแทะของที่มีความแข็งมากๆ ก็อาจจะทำให้เกิดฟันหักได้ ซึ่งฟันนั้นจะหักง่ายมากเข้าไปอีกสำหรับผู้ที่มีฟันผุร่วมด้วย

 

เมื่อฟันหักควรทำอย่างไร ?

การรักษาฟันหักจะสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ หากว่าฟันหักเพียงบางส่วนเล็กน้อยก็สามารถที่จะทำการรักษาได้ทันที แต่ถ้าหากว่ามีความเสียหายรุนแรงหนักจนถึงเส้นประสาทฟัน ทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก็จำเป็นที่จะต้องทำการรักษารากฟันก่อนเป็นอันดับแรก โดยในเบื้องต้นนี้หากว่าท่านเกิดอุบัติเหตุถึงขั้นฟันหัก ควรปฏิบัติตัวดังต่อไปนี้

– สำหรับขั้นตอนแรกเลยถ้าหากว่าเริ่มมีอาการปวดหลังจากที่ประสบอุบัติเหตุฟันหักควรรับประทานยาแก้ปวด และบ้วนปากด้วยน้ำเกลือเป็นระยะๆ เพื่อป้องกันการติดเชื้อเบื้องต้น

–  หากว่าจำเป็นที่จะต้องรับประทานอาหาร ให้ทำการหลีกเลี่ยงการกัดหรือบดเคี้ยวอาหารบริเวณที่ฟันหัก หรือควรรับประทานอาหารที่ไม่ต้องใช้แรงในการบดเคี้ยว เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก หรืออาหารนุ่มๆต่างๆ

– หากว่าในขณะที่กำลังจะไปพบทันตแพทย์หลังจากประสบอุบัติเหตุฟันหัก โดยฟันที่หักมีลักษณะแหลมคม ให้ทำการนำหมากฝรั่งไร้น้ำตาลมาคลุมในส่วนที่ฟันหัก เพื่อไม่ให้ฟันซี่ที่หักไปบาดลิ้นหรือบาดเนื้อเยื่อในช่องปาก

– เมื่อเกิดอุบัติเหตุฟันหัก ควรรีบหาเศษฟันที่หักให้เจอโดยเร็วที่สุด และทำความสะอาดให้เรียบร้อย พร้อมกับให้ทำการแช่ฟันที่หักไว้ในนมจืด เพื่อเป็นการรักษาสภาพฟัน และให้รีบไปหาทันตแพทย์โดยเร็วที่สุด เพราะหากว่าทันเวลาอาจจะใช้กาวต่อฟันในการรักษาเพื่อใส่ฟันที่หักกลับคืนไปเป็นเหมือนเดิมได้ แต่ถ้าหากว่าหาเศษฟันที่หักไม่พบ ทันตแพทย์อาจจำเป็นต้องใช้การซ่อมแซมด้วยวัสดุอุดฟัน หรือทำการครอบฟัน

– ถ้าหากว่าผู้ที่ประสบอุบัติเหตุฟันหักเป็นเด็กเล็ก ที่ฟันยังเป็นฟันน้ำนมอยู่ขอบอกเลยว่านี่คือเรื่องสำคัญมากที่ห้ามละเลยโดยเด็ดขาด เพราะ การสูญเสียฟันน้ำนมก่อนเวลาที่เหมาะสมอาจจะส่งผลให้เด็กมีปัญหาเรื่องการออกเสียง การรับประทานอาหาร รวมถึงสุขภาพช่องปากในอนาคตหากว่าไม่รีบทำการแก้ไข ดังนั้นหากว่าฟันน้ำนมของเด็กเล็กๆหัก ผู้ปกครองควรสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หากพบว่าเริ่มมีอาการปวดบวม หรือฟันเริ่มเปลี่ยนสีผิดปกติ หรือมีไข้ขึ้นอย่างรวดเร็ว ให้รีบเข้าพบทันตแพทย์โดยเร็วที่สุด แต่หากในกรณีที่มีอาการเลือดไหลออกมาด้วยในบริเวณฟันซี่ที่หัก ให้นำผ้าก๊อซมากดห้ามเลือด และใช้ถุงน้ำแข็งมาประคบเพื่อลดอาการบวม และให้รับประทานยาแก้ปวดสำหรับเด็กตามความเหมาะสม

ซึ่งการรักษาอาการฟันหักในเด็กเล็กที่ยังเป็นฟันน้ำนมทันตแพทย์จะนัดเพื่อตรวจดูอาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นเป็นระยะๆ และอาจจะซ่อมแซมด้วยวัสดุทางทันตกรรม แต่ถ้าหากว่าฟันที่หักมีอาการโยกผิดปกติ ทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอาจจะต้องทำการถอนฟันซี่นั้นออก เพื่อไม่ให้เกิดการหลุดในขณะที่นอนหลับหรือตอนทำกิจกรรมต่างๆเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการสำลักเมื่อเกิดฟันหลุดจนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

 

ทั้งหมดที่กล่าวมาก็คือวิธีที่ควรทำเมื่อเกิดอุบัติเหตุฟันหัก เพราะ บางทีเมื่อทำได้อย่างถูกต้องตามขั้นตอนตามวิธีที่แนะนำ อาจจะทำให้การรักษานั้นง่ายขึ้น และท่านอาจจะไม่จำเป็นต้องสูญเสียฟันแท้ที่สวยงามตามธรรมชาติไปนั่นเอง